สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศฉบับชาวบ้าน part 2

วิธีเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศฉบับชาวบ้าน part 2

ข้อคำนึงในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ (ต่อ)

     2) ชนิดของระบบปรับอากาศ เมื่อทราบขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ ที่เราต้องการใช้งานแล้ว การเลือกชนิดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานนั้นก็เป็นลำดับต่อไป ชนิดของเครื่องปรับอากาศตามบ้านทั่วไปจะเป็นประเภท PACKAGE AIR COOL อันประกอบไปด้วย แบบ Window type และ Split type ซึ่งเป็นประเภทของเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันโดยทั่วไป แบบ Split type นั้น จะต้องคำนึงถึงตำแหน่งที่ติดตั้งคอยล์ร้อนให้เหมาะสมด้วย ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับบ้านที่ไม่ได้ออกแบบ หรือเตรียมที่สำหรับติดตั้งคอยล์ร้อนเอาไว้ ฉะนั้น ก่อนเลือกซื้อต้องคำนึงถึงตำแหน่งติดตั้งคอยล์ร้อนด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ สำหรับลักษณะตำแหน่งติดตั้งคอยล์ร้อนที่ดีเป็นดังนี้

     ● ระยะห่างระหว่างคอยล์เย็นและคอยล์ร้อนไม่ควรห่างกันจนเกินไป โดยระยะห่างให้เป็นไปตามระยะที่ผู้ผลิตแนะนำ ทั่วไปแล้วระยะห่างไม่ควรเกิน 15 ม. (ปกติช่างแอร์จะคิดค่าติดตั้งแล้วแต่ขนาดบีทียูของเครื่องปรับอากาศ เครื่องยิ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นช่างก็จะคิดราคาค่าติดตั้งแพงขึ้น โดยราคาค่าติดตั้งคิดเหมาที่ความยาวเส้นท่อไม่เกิน 4 ม.(ความยาวท่อนี้ ก็คือระยะห่างระหว่างคอยล์เย็นกับคอยล์ร้อนนั่นเอง) หากระยะท่อเกินกำหนดก็จะคิดราคาค่าติดตั้งเพิ่มเติมตามความยาวท่อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากระยะห่างกันมากๆ นี้เป็นผลให้ท่อน้ำยาแอร์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวนำความร้อนนั้นยาวตามไปด้วย ทำให้ประสิทธิภาพในการนำความร้อนออกไปลดลง ความดันภายในเส้นท่อก็จะสูญเสียมากขึ้นตามไปด้วย เป็นเหตุให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น อายุการทำงานของคอมเพรสเซอร์จะสั้นลงและสิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย

     ● สะดวกกับการบำรุงรักษา เช่น กรณีต้องการล้างทำความสะอาด หรือซ่อมแซมอื่นๆ อีกทั้งต้องคำนึงถึงเวลาต้องการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ (ผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมชั้นสูงๆ ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก) ช่างแอร์จะต้องสามารถทำงานได้โดยสะดวกและปลอดภัย

     อากาศถ่ายเทสะดวกสามารถระบายความร้อนได้ดี โดยด้านหลังของคอยล์ร้อนควรห่างจากผนังอย่างน้อย 10 ซ.ม. เพื่อการถ่ายเทความร้อนที่ดีและลมร้อนที่เป่าออกไปนั้นจะต้องสามารถระบายความร้อนไปสู่อากาศายนอกได้อย่างสะดวก ไม่เกิดความร้อนสะสมในบริเวณรอบๆ จนมากเกินไป การระบายความร้อนที่ไม่ดีนั้นจะทำให้เครื่องปรับอากาศหยุดทำงาน หรือที่ภาษาช่างเรียกกันว่า “แอร์น็อค” ได้ หรือทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า

     ● มีความแข็งแรงในการติดตั้ง การติดตั้งที่ต้องแขวนคอยล์ร้อนกับผนัง หรือเพดานต้องทำการยึดติดกับโครงสร้างให้แข็งแรงแน่นหนาเพื่อความปลอดภัย ที่พบบ่อย คือ กรณีที่ต้องแขวนคอยล์ร้อนไว้ที่ผนังตำแหน่งที่เจาะสกรูยึดติดขาสำหรับแขวนนั้น ควรยึดติดบริเวณที่เป็นเสาเอ็น หรือทับหลัง เพราะหากยึดติดกับตัวผนังอิฐทั่วไปเมื่อใช้งานตัวคอยล์จะสั่นทำาให้สกรูที่เจาะฝากไว้กับอิฐนั้นคลอนได้และอาจมีปัญหาเรื่องความแข็งแรงในระยะยาว

     ● ไม่มีผลกระทบจากเสียงในการทำงาน ขณะเครื่องปรับอากาศทำงานจะมีการสั่นของตัวเครื่องเกิดขึ้นด้วย ตำแหน่งที่ติดตั้งคอยล์ร้อนจะต้องมั่นคงและมียางรองใต้จุดรองรับที่เหมาะสมเพื่อลดเสียงที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ยางที่รองนั้นมีหลากหลายชั้นคุณภาพมาก ซึ่งจะสัมพันธ์กับความสามารถในการลดแรงสั่นสะเทือนมากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้นต้องคำนึงว่าสภาพห้องที่ใช้งานนั้นต้องการความเงียบมากน้อยแค่ไหน

     เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ในการติดตั้งคอยล์ร้อนแล้ว ทำให้บางสถานที่ที่ต้องการใช้เครื่องปรับอากาศแต่ติดปัญหาสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ปัจจุบันบ้านเรามีการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่กันแล้ว โดยเครื่องปรับอากาศประเภทนี้จะมีคอยล์เย็นและคอยล์ร้อนอยู่ในตัวเดียวกันและมีท่อทางเดินลมร้อนเพื่อระบายความร้อนออกไป ซึ่งท่อนี้เป็นท่อยืดหยุ่น (Flexible pipe) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว สามารถดัดงอให้เหมาะสมกับสถานที่ใช้งานที่จำกัดได้พอสมควร ไม่ต้องติดตั้ง เสียบปลั๊กใช้งานได้เลย เรียกได้ว่าการใช้งานง่ายไม่ต่างจากพัดลมเลย เพียงแต่ต้องเตรียมช่องทางให้ระบายลมร้อนออกไป ข้อจำกัดของเครื่องปรับอากาศประเภทนี้ คือ ขนาดกำลังในการทำความเย็นไม่มาก (ไม่เกิน 18,000 BTU) และประสิทธิภาพการทำความเย็นต่ำ คือ สิ้นเปลืองไฟฟ้ามากกว่าเครื่องปรับอากาศ Split type ทั่วไป

     อีกประเด็นที่ขาดไม่ได้เลย คือ เรื่อง ประตู หน้าต่าง ที่ต้องมีการปิดที่สนิท ทำให้อากาศเย็นจาภายในห้องรั่วไหลออกไปนอกตัวห้องได้ จะช่วยลดการทำงานของคอมเพลสเซอร์ได้มากทีเดียว


ที่มา: วารสาร TPA News ผู้เขียน นิพนธ์ ลักขณาอดิศร

รูปภาพ: http://www.ล้างแอร์ติดตั้งแอร์.com



view