การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่เหมาะกับขนาดของห้องก็มีความสำคัญ แต่ห้องที่ติดตั้งควรจะเป็นห้องปิดที่ไม่สามารถให้อากาศภายในห้องไหลสู่ภายนอกได้ เช่น เรื่องของ ประตูหน้าต่าง ปิดสนิทหรือไม่ ยิ่งเครื่องปรับอากาศมีขนาดเล็กก็จะประหยัดไฟฟ้าได้มากกว่าขนาดใหญ่ การลดขนาดห้องก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดขนาดเครื่องปรับอากาศ เช่น การกั้นห้องด้วยผนังเบา การกั้นห้องด้วยประตู หน้าต่าง กระจก การลดระดับความสูงด้วยการติดตั้งฝ้าเพดาน
ค่าไฟฟ้าจากการใช้งาน นอกจากงบประมาณในการซื้อเครื่องปรับอากาศและค่าติดตั้งแล้ว งบประมาณค่าไฟฟ้าจากการใช้งานก็นับเป็นงบประมาณที่ควรจะพิจารณาประกอบด้วยเพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระยะยาว เรียกได้ว่าบางคนที่ต้องการใช้งานเครื่องปรับอากาศมีงบประมาณพอที่จะซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง แต่ติดปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าที่ต้องพบในแต่ละเดือนจนตัดสินใจไม่ติดตั้งเลยก็เป็นได้ หรือหากไม่ได้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก่อนจะตัดสินใจซื้อครื่องปรับอากาศก็จะทำให้ไม่กล้าใช้งานเครื่องปรับอากาศเพราะพะวงเรื่องค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น ผมเห็นว่าเป็นการดีไม่น้อยหากจะคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ประกอบกับการตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศด้วย
การคำนวณค่าไฟฟ้าจากการใช้งานอย่างง่ายๆ
1) แปลงหน่วย BTU เป็นวัตต์ด้วยการหารด้วยค่า EER (Energy Efficiency Ratio คือ ค่าประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Output/Input) โดย EER สำหรับเครื่องปรับอากาศฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 นั้น เท่ากับ 11.0)
2) เมื่อได้ขนาดกำลังไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศแล้วคูณด้วย 70% (สมมุติเวลาทำงานคอมเพรสเซอร์เท่ากับ 70% ของเวลาเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งหมด) และหารด้วย 1,000 เพื่อแปลงหน่วยจาก W-hr เป็น kW-hr
3) คูณด้วยจำนวน ช.ม. ที่ใช้งานเครื่องปรับอากาศใน 1 เดือน และคูณด้วย 3 (ประมาณค่าไฟฟ้ายูนิตละ 3บาท) เพียงเท่านี้ก็สามารถประมาณการค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 1 เดือนได้แล้ว
เมื่อเราทราบงบประมาณทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งค่าเครื่องปรับอากาศและค่าไฟฟ้าจากการใช้งานแล้วจะทำให้เราสามารถวางแผนในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศได้ดีขึ้นและใช้งานได้อย่างสบายใจ ดีกว่าซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดแล้ว ไม่กล้าใช้งานเพราะกลัวภาระค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น
4) สภาพตัวสินค้า เครื่องปรับอากาศที่จำหน่ายในบ้านเรามีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละรายก็มีแนวทางทางการตลาดแตกต่างกันไป เช่น การทำโฆษณาโดยการว่าจ้างดารานักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงในบ้านเมืองมาเป็นผู้นำเสนอสินค้า ซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้บริโภค แน่นอนว่าก็มีทั้งจริงทั้งหมดและจริงไม่หมดบ้าง ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อควรมีโอกาสได้สัมผัสตัวสินค้าจริงและคุยกับพนักงานขายถึงรายละเอียดของสินค้าอย่างละเอียดเสียก่อน เพราะหากเปรียบเทียบโดย Spec อาจจะดูคล้ายกัน แต่หากได้ดูรายละเอียดถึงตัววัสดุก็จะเห็นรายละเอียดที่แตกต่างเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อได้ เช่น ตัว Body ของคอนเดนซิ่งบางรุ่น บางยี่ห้อ ทำมาจากพลาสติก ในขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ เป็นเหล็กพ่นสี หรือ Union cap (จุดต่อน้ำยาแอร์เข้าคอยล์ร้อน) บางยี่ห้อทำมาจากพลาสติก ในขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ เป็นทองแดง ซึ่งมีความทนทานมากกว่า หรือมอเตอร์พัดลมที่ใช้ระบายความร้อนบางรุ่นที่อาจจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งทำให้เกิดเสียงรบกวน (Humming sound) ได้มากกว่าบางรุ่นที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง ฯลฯ รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ต้องสอบถามเชิงลึก หรือได้เห็นตัวสินค้าจริงจึงจะได้ข้อมูล
5) การรับประกันสินค้าและบริการหลังการขาย ในฐานะผู้จะเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศควรใส่ใจในรายละเอียดเรื่องการรับประกันสินค้าและศูนย์บริการเปรียบเทียบด้วย ผมเคยประสบปัญหานี้มาด้วยตัวเองครับ ตอนเลือกซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง พนักงานขายนำเสนอสินค้ายี่ห้อหนึ่งอย่างออกหน้าออกตา อธิบายถึงคุณสมบัติที่ดีกว่าสินค้าตัวอื่นๆ ของคู่แข่ง เมื่อผมศึกษาข้อมูลและนำมาเปรียบเทียบก็พบว่าตัวสินค้ามีคุณภาพดีและใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่ายี่ห้ออื่นๆ จริง จึงตัดสินใจเลือกซื้อ แต่เมื่อใช้งานได้ประมาณ 5 ปี เจ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวนี้เกิดเสียขึ้นมาตามกาลเวลา โทรไปหาศูนย์บริการก็พบว่าปิดบริการและเลิกเป็นตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ความรู้สึกเหมือนถูกลอยแพเลยครับ อย่าลืมครับว่าสินค้าจะเทพขนาดไหนก็มีวันที่จะเสียตามอายุการใช้งาน แต่หากสินค้าตัวนั้นไม่เป็นที่นิยมในท้องตลาดและตัวแทนจำหน่ายไม่แข็งแกร่งพอ ก็จะปิดบริการไปดื้อๆ ทิ้งลูกค้าเก่าให้หาทางออกเอาเองครับ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อควรพิจารณาเงื่อนไขการรับประกันและศูนย์บริการหลังการขายประกอบด้วย
ที่มา: วารสาร TPA News ผู้เขียน นิพนธ์ ลักขณาอดิศร
รูปภาพ: www.ล้างแอร์ติดตั้งแอร์.com