สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระบบสุขาภิบาลในงานอาคาร part 2

ระบบสุขาภิบาลในงานอาคาร part 2

     เนื่องจากท่อน้ำดีจะต้องมีแรงดันภายในเส้นท่ออยู่ตลอดเวลา จึงต้องเลือกใช้วัสดุท่อที่มีความหนามากกว่าท่อระบายน้ำโดยทั่วไปเพื่อให้ท่อสามารถรับแรงดันสูงที่เกิดขึ้น รวมถึงการตัดต่อท่อที่จุดต่างๆ จะต้องดำาเนินการด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบ เพราะหากเกิดรอยรั่วภายในเส้นท่อน้ำดี น้ำจะพุ่งออกมาตามรอยรั่วจากแรงดันที่เกิดขึ้นภายในเส้นท่อ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ส่วนระบบท่อระบายน้ำอื่นๆ จะต่างจากระบบท่อน้ำดีตรงที่ไม่มีแรงดันเกิดขึ้นภายในเส้นท่อ ฉะนั้น หากต้องการลำเลียงของเหลวนี้ไปในทิศทางใดๆ จะต้องวางเส้นท่อให้ลาดเอียงไปในทิศทางนั้นๆ กรณีเส้นท่อถูกเดินไว้ในแนวราบจะต้องมีความลาดเอียงอย่างน้อย 1:100 (ค่าระดับต่างกัน 1 ซ.ม. ต่อความยาวท่อ 1 ม.)

     การทดสอบโดยการค้างแรงดันในเส้นท่อเพื่อทดสอบความแข็งแรงของรอยต่อมีเกณฑ์มาตรฐานที่ต่างกัน ดังนี้

     กรณีท่อน้ำดี(มีแรงดันค้างในเส้นท่อ) ทดสอบโดยการค้างแรงดันในเส้นท่อให้สูงกว่าแรงดันที่ใช้งานประมาณ 1.5 เท่า ที่ต้องกำหนดแบบนี้เนื่องจากท่อในระบบน้ำดีแต่ละช่วงอาจได้รับแรงดันที่ไม่เท่ากัน เช่น บริเวณตำแหน่งท่อยืน (Riser) จะเกิดแรงดันสูงในเส้นท่อมากกว่าแนวท่อย่อยๆ ที่ไปจ่ายตามจุดใช้งานต่างๆ เนื่องจากต้องรับแรงดันจากปั๊มน้ำโดยตรง เพื่อนำน้ำไปจ่ายที่จุดตามชั้นพักอาศัยในแต่ละชั้น การกำหนดความดันในการทดสอบไว้ก็จะสูงกว่าแนวท่อย่อยๆ อื่น ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 150-180 psi หากเป็นท่อน้ำดีย่อยๆ ที่ไปจ่ายตามจุดต่างๆ จะกำหนดแรงดันทดสอบไว้ที่ 80-100 psi ก็เพียงพอแล้ว สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปจะมีแรงดันน้ำดีใช้งานในเส้นท่ออยู่ประมาณ 45-60 psi การทดสอบนี้จะทำการปิดแนวเส้นท่อที่จะทำการทดสอบให้เป็นระบบปิดและเติมน้ำให้เต็มเส้นท่อ จากนั้นจะทำการอัดความดันทดสอบเข้าไป โดยทำการค้างแรงดันทิ้งเอาไว้ที่ระยะเวลาประมาณหนึ่ง ประมาณ 3-6 ชม. การทดสอบนี้จะติดเกจวัดแรงดันค้างไว้เพื่อให้สามารถตรวจสอบแรงดันได้ตลอดเวลาที่ทำการทดสอบ หากพบว่าค่าแรงดันที่อ่านได้จากเกจวัดลดลงจะต้องทำการตรวจสอบเส้นท่อว่ามีตำแหน่งน้ำรั่วซึมหรือไม่ หากพบก็ทำการซ่อมแซม แล้วทำการทดสอบใหม่ มีบางกรณีที่เกจวัดอ่านค่าแรงดันลดลง อาจเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิเมื่อตอนเริ่มต้นทดสอบกับตอนทดสอบแล้วเสร็จมีค่าแตกต่างกันจึงมีผลต่อค่าแรงดันที่ปลี่ยนแปลงได้ 

     กรณีท่อน้ำทิ้ง (ไม่มีแรงดันค้างในเส้นท่อ) เนื่องจากไม่มีแรงดันค้างภายในเส้นท่อการทดสอบก็จะมีความเข้มงวดน้อยกว่า โดยจะใช้แรงดันน้ำจากแรงโน้มถ่วงของโลกทำการทดสอบ เริ่มจากปิดแนวท่อที่จะทดสอบเป็นระบบปิด แล้วต่อปลายท่อด้านหนึ่งขึ้นสูงประมาณ 2-3 ม. จากนั้นเติมน้ำให้เต็มแนวท่อโดยให้ระดับน้ำบริเวณปลายท่อที่ยกสูงนั้นมีความสูงจากพื้นประมาณ 2 ม. ขึ้นไปและทำสัญลักษณ์แสดงระดับน้ำที่ปลายท่อที่ยกสูงนี้ จากนั้นทิ้งให้น้ำค้างในเส้นท่อไว้ประมาณ 3 ชม.ขึ้นไป แล้วจึงมาตรวจสอบระดับน้ำ หากระดับน้ำลดลงให้ทำการสำรวจแนวท่อว่ามีรอยคราบน้ำรั่วซึม หรือไม่ หากพบก็ทำการแก้ไขแล้วทดสอบใหม่ กรณีที่ระดับน้ำลดลง อาจะเป็นไปได้ว่าระดับน้ำที่ลดลงเกิดจากการระเหยของน้ำ ฉะนั้นควรกำหนดระยะเวลาทดสอบให้เหมาะสม 


ที่มา: วารสาร TPA News ผู้เขียน นิพนธ์ ลักขณาอดิศร

รูปภาพ: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=narin-family&group=6&page=2

view