วัสดุอุดรอยต่อที่ใช้งานกันแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท ได้แก่ อะคริลิก โพลียูริเทน และซิลิโคน
1) อะคริลิก (Acrylic sealant) เป็นวัสดุอุดรอยต่อที่ทำมาจากวัสดุโพลิเมอร์กลุ่มไฮโดรคาร์บอน (คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน) ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย (Water based) แต่เมื่อแข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ ถ้าอธิบายให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายขึ้นอะคริลิกก็เป็นเหมือนแป้งกาว latex ผสมน้ำนั่นเอง ช่างมักจะเรียกว่าแด๊ป (DAP) ซึ่งมีที่มาจากยี่ห้ออะคริลิกอุดรอยต่อชื่อดังที่เข้ามาทำการตลาดในยุคแรกๆ ที่นำอะคริลิกอุดรอยต่อมาใช้งาน ทำให้ช่างเรียกวัสดุประเภทนี้ตามชื่อยี่ห้อไปเลย คุณสมบัติของอะคริลิก คือ มีความยืดหยุ่นน้อย มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ต่ำ จึงเหมาะกับงานอุดรอยต่อเพื่อความสวยงามในงานภายใน แต่จุดเด่นของอะคริลิก คือ สามารถขัดแต่งผิวงานได้และทาสีทับได้ สามารถใช้กับวัสดุทั้งผิวเรียบและผิวขรุขระและมีราคาไม่แพง แต่อะคริลิกที่ขายตามท้องตลาดนั้นมีหลายระดับหลายราคามาก ตั้งแต่มีความยืดหยุ่นน้อยไปจนถึงมากซึ่งเกิดจากสารผสมเพิ่มเพื่อเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ เข้าไป เช่น เพิ่มความยืดหยุ่น สารป้องกันเชื้อรา ทนต่อรังสี UV และสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็จะแพงกว่าระดับใช้งานทั่วไป มีหลากหลายสีให้เลือกใช้ มีบรรจุภัณฑ์เป็นหลอดทรงกระบอกปลายเป็นกรวยปลายแหลมสำหรับใช้งานในบริเวณรอยต่อแคบๆ
ที่มา: นิพนธ์ ลักขณาอดิศร